• แผนพัฒนาการศึกษา
     ระยะ ๓ ปี (๒๕๕๒ – ๒๕๕๔)

    ********************************************************

    บทนำ
    ความเป็นมาและความสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ระยะ ๓ ปี 
    ( พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๔ )
    + + + + + + + + +

                                  การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาระยะ ๓ ปีของโรงเรียน เป็นการวางรูปแบบภาวะที่ต้องการในอนาคต โดยการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติหรือกิจกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จตามที่ต้องการ โดยการพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของโรงเรียน ในการจัดทำแผนเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่มีการดำเนินการที่ละขั้นตอน ดังนี้

    • กำหนดวัตถุประสงค์การพัฒนาโรงเรียน เป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายหรือ ผลที่ต้องการให้เกิดในการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดของโรงเรียน ในช่วงระยะเวลา ๓ ปี
    • กำหนดแผนกลยุทธ์ คือ กำหนดแผนที่ครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดของ โรงเรียนโดยคณะกรรมการบริหารโรงเรียนร่วมกันกำหนดเป้าหมายรวมของโรงเรียน แนวการดำเนินการ ตลอดจนกำหนดการใช้ทรัพยากรของโรงเรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล
    • กำหนดแนวทางในการดำเนินการสำหรับงานแต่ละงาน คือ งานวิชาการ งานบุคลากร งานกิจการนักเรียน งานปกครอง งานธุรการ การเงินและพัสดุ งานอาคารสถานที่ งานความสัมพันธ์กับชุมชน โดยนำเป้าหมายและแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์มากำหนดเป็นทิศทางของกิจกรรม
    • กำหนดแผนดำเนินการ เป็นการกำหนดโครงการและกิจกรรม สำหรับงานแต่ละงานของโรงเรียน โดยผู้ปฏิบัติงานร่วมกันกำหนดและดำเนินการ
    • การดำเนินการตามแผน เป็นขั้นตอนการนำแผนงานและโครงการไปสู่การปฏิบัติ โดยครู และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามแผน
    • การติดตามผลและการควบคุม เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หัวหน้าฝ่าย หัวหน้ากลุ่มสาระ จะติดตามผลการปฏิบัติงาน แล้วนำไปเปรียบเทียบกับแผนที่วางไว้เพื่อวัดความก้าวหน้าและนำมาพิจารณาทบทวนหรือปรับแผน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและนำไปสู่ความสำเร็จต่อไป

    ประโยชน์ของการจัดทำแผนพัฒนา

    • แผนพัฒนาจะช่วยให้โรงเรียนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนช่วยให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

    ขั้นตอนในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาระยะ ๓ ปี ( พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๔ )


    การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาระยะ ๓ ปี ของโรงเรียนฯ มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้.

    1. แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาระยะ ๓ ปี ของโรงเรียน
    2. จัดประชุมคณะผู้บริหารและคณะกรรมการจัดทำแผน ฯ เพื่อชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนฯจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา
    3. จัดทำรายละเอียดโครงการ / กิจกรรมการพัฒนาแผนพัฒนาการศึกษาระยะ ๓ ปี
    4. คณะกรรมการจัดทำแผน ฯ นำเสนอร่างแผนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนต่อคณะกรรมการบริหารโรงเรียนและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน
    5. คณะกรรมการจัดทำแผน ฯ นำแผนเสนอคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเพื่อขออนุมัติและประกาศใช้แผนพัฒนาการศึกษาระยะ ๓ ปี นับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ถึง ปีการศึกษา ๒๕๕๔ต่อไป


    สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน


    ข้อมูลพื้นฐาน


                                  โรงเรียน ตั้งอยู่ ถนนพุทธมณฑลสาย ๔ ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โทรศัพท์ ๐- ๒๘๘๘ - ๕๖๒๖ โทรสาร ๐-๒๘๘๘ - ๕๘๑๔ สังกัดเทศบาลเมือง จัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๓ มีพื้นที่ ๙ ไร่ ๓ งาน ๘๔ ตารางวา


    ประวัติความเป็นมา


                                  โรงเรียน ตั้งอยู่ ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยนายมา สมใจ และนางมีมูล สุขจริง ได้ยกที่ดินโดยเสน่หาโดยไม่มีค่าตอบแทน เนื้อที่ ๙ ไร่ ๓ งาน ๘๔ ตารางวา กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักงานการศึกษาท้องถิ่น กรมการปกครอง ได้ร่วมพิจารณาอนุมัติให้ก่อสร้างและจัดตั้งโรงเรียนีขึ้น โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ และจัดสรรเงินอุดหนุน เฉพาะกิจ ค่าก่อสร้างอาคารเรียน ปีงบประมาณ ๒๕๒๐ เป็นเงิน ๓,๙๘๒,๐๐๐ บาท ให้ปลูกสร้างอาคารเรียนคอนกรีตถาวร ขนาด ๒ ชั้น ใต้ถุนสูงจำนวน ๑๖ ห้องเรียน สร้างโรงอาหารจำนวน ๑ หลัง เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท สร้างบ้านพักนักการภารโรงจำนวน ๑ หลัง เป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท สร้างส้วมนักเรียน ๑ หลัง (๕ ที่) เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อโรงเรียนสร้างเสร็จและเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๒๕๒๓ เปิดรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ จำนวน ๓ ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้น ๔๔ คน มีครู ๒ คน และได้ยืมตัวพนักงานเทศบาลมาช่วยสอน ๑ คน โดยมีนางกิตติมา คุ้มญาติเป็นครูใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับงบประมาณค่าก่อสร้างบ้านพักครู ๑ หลัง ( ๒ หน่วย) เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และสร้างห้องส้วมนักเรียน ๑ หลัง (๕ ที่) เป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ปีงบประมาณ ๒๕๓๒ – ๒๕๓๓ ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป ก่อสร้างอาคารเรียนคอนกรีตถาวร ๒ ชั้น ใต้ถุนสูงจำนวน ๖ ห้องเรียน และสร้างส้วมนักเรียน ๑ หลัง ( ๕ ที่) 

    ปีงบประมาณ ๒๕๓๕ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้ขยายโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพิ่มอีก ๓ ชั้นปี (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๓ ) และให้เปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๒๕๓๖ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๓๖ ทางโรงเรียนได้ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม ใต้ถุนอาคารเรียนหลังที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๓๗ ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างส้วมจำนวน ๑ หลัง (๔ ที่) ปีการศึกษา ๒๕๓๘ ได้รับการอนุเคราะห์จากเทศมนตรีเทศบาล คุณนภาภรณ์ รังษีธนานนท์ ในการก่อสร้างต่อเติมใต้ถุนอาคารเรียนหลังที่ ๑ จำนวน ๒ ห้องเรียน และก่อสร้างเพิ่มเติมใต้ถุนอาคารเรียนหลังที่ ๒ จำนวน ๖ ห้องเรียน พร้อมอุปกรณ์ประกอบเช่น มู่ลี่หน้าต่าง ผ้ายางปูพื้นทั้ง ๖ ห้องเรียน และก่อสร้างกำแพงกั้นหน้าห้องน้ำ กำแพงด้านโรงอาหาร ๑ กำแพง
    ปีการศึกษา ๒๕๓๙ ได้รับงบประมาณหมวดค่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้างนำมาก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมห้องเรียนใต้ถุนอาคารเรียนหลังที่ ๑ จำนวน ๓ ห้องเรียน เป็นเงิน ๔๔,๐๐๐ บาท ปีงบประมาณ ๒๕๔๐ ได้รับเงินอุดหนุนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อสร้างอาคารเรียน รหัสแบบ สน.ศท ๔ / ๑๘ สูง ๔ ชั้น ใต้ถุนสูง ๑๘ ห้องเรียน ชั้นล่างโล่งเป็นเงิน ๔,๘๐๐๐,๐๐๐ บาท เงินสมทบจากเทศบาล ๑๒,๗๐๐,๐๐๐ รวมเป็นเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท 
    ปีงบประมาณ ๒๕๔๑ ได้รับเงินงบประมาณจากเทศบาล เพื่อจัดสร้างประปาโรงเรียนเป็นเงิน ๕๕๐,๐๐๐ บาท และได้จัดสร้างระบบกระแสไฟฟ้าภายในโรงเรียน โดยใช้เงินงบประมาณจากเทศบาล ประจำปี ๒๕๔๑ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท 
    ปีงบประมาณ ๒๕๔๒ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จากกรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทยก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ จำนวน ๑ หลัง
    ปีงบประมาณ ๒๕๔๔ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทย เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังที่ ๔ จำนวน ๑๘ ห้องเรียน งบประมาณการก่อสร้าง ๑๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท
    ปีงบประมาณ ๒๕๔๖ ได้รับงบประมาณก่อสร้างต่อเติมอาคารเรียนหลังที่ ๒ จำนวน ๖ ห้อง เป็นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท 
    ปีงบประมาณ ๒๕๔๗ ได้รับเงินอุหนุนเฉพาะกิจ จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น จำนวน ๘ ห้องเรียน ชั้นล่างโล่งชั้นบนเป็นห้องประชุม ตามแบบแปลนเทศบาลที่ ๓๖ / ๒๕๔๖ ลงวันที่๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ งบประมาณการก่อสร้าง ๖,๙๑๐,๐๐๐ บาท

    จำนวนอ่าน : 725