• ใครทำให้คุณภาพเด็กไทยแย่ลง

    โดย บุญมี พันธุ์ไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


    จาก การรับฟังข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับคุณภาพของเด็กว่าแย่ลง และแย่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แม้กระทั่งวิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาของเราเองก็ยังแย่

    ใครทำให้คุณภาพเด็กไทยเป็นอย่างนี้

    เมื่อ มาวิเคราะห์ดูโดยอาศัยข้อมูลที่ผู้เขียนได้มาจากการพูดคุยกับนักศึกษาซึ่ง เป็นลูกศิษย์ในระดับปริญญาโทที่เป็นครู ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนมาหลายปีก็จะพบว่า ขณะนี้ครูทิ้งห้องเรียน หรือใช้เวลาสอนนักเรียนน้อยลงโดยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำงานอย่างอื่นทั้งที่ เป็นงานส่วนตัวและงานราชการ

    ซึ่งงานอย่างอื่นที่ครูทำนั้นมี 2 อย่างที่สำคัญ คือ

    อย่าง แรก ครูเอาเวลาไปทำผลงานทางวิชาการ เพื่อเสนอขอตำแหน่ง คศ.3 (อาจารย์ 3) ซึ่งครูจะต้องใช้เวลาในการค้นคว้า ปรึกษาครูที่ได้ คศ.3 แล้ว จะต้องทิ้งห้องเรียนเข้ารับการอบรมอีก (ปัจจุบันครูคนไหนจะเสนอขอตำแหน่ง คศ.3 ต้องผ่านการอบรมก่อน)

    หลังจากนั้นก็ต้องใช้เวลาในการเก็บรวบรวม เอกสาร หลักฐานต่างๆ (ทั้งที่เป็นจริงและสร้างขึ้น) เพื่อนำมาเขียนรายงานเป็นรูปเล่ม กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็มีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้งตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยว ชาญที่ให้คำปรึกษา ก็ต้องใช้เวลาอีกนาน

    ครูที่มุ่งมั่นจะขอตำแหน่ง คศ.3 ให้ได้ก็จะใช้เวลาในการทุ่มเททำผลงานมากแล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทุ่มเทกับการสอนเด็กในห้องเรียน

    ครู บางคนได้ตำแหน่ง คศ.3 แล้วก็มองไกลไปยังตำแหน่ง คศ.4 คศ.5 ที่สูงขึ้นไปอีก ลองคิดดูก็แล้วกันว่า คศ.3 ใช้เวลามากขนาดนั้นแล้ว คศ.4 และ คศ.5 ครูจะใช้เวลามากขนาดไหน

    ตามหลักการแล้วครูคนไหนได้ตำแหน่ง คศ.3 (อาจารย์ 3) จะแสดงถึงครูคนนั้นมีความชำนาญการ ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือสอนเก่งนั่นเอง ซึ่งเด็กก็น่าจะเก่งตามด้วยเหมือนกัน

    บางโรงเรียนมีครูที่ได้ตำแหน่ง คศ.3 (อาจารย์ 3) หลายคน แต่ทำไมเด็กจึงมีคุณภาพแย่ลงซึ่งสวนทางกัน เด็กก็ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ถูกเหมือนเดิมแบบนี้จะอธิบายกันอย่างไร ขอให้ผู้ที่กำหนด กฎ ระเบียบการขอ คศ.3 ทั้งหลายช่วยอธิบายให้หน่อย

    ผู้เขียนเองไม่อยากจะ โทษว่าเป็นความผิดของครู ก็เพราะว่า กฎ ระเบียบมันกำหนดมาอย่างนั้น แล้วใครกันเป็นผู้กำหนด กฎ ระเบียบนี้ขึ้นมา ไม่รู้บ้างหรืออย่างไร ว่าผลเสียได้ไปตกที่ตัวเด็กแล้ว

    ถ้าเรายอมรับว่าการทำผลงานทาง วิชาการของครูในขณะนี้ส่งผลเสียไปยังเด็กก็น่าจะยกเลิกกฎ ระเบียบนี้เสีย มาคิดหาวิธีการประเมินตำแหน่ง คศ.3 ให้ครูใหม่ที่ทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน แต่กลับจะอยู่ห้องเรียนมากขึ้น ทุ่มเทการสอนเด็กมากขึ้นถ้าครูคนไหนต้องการได้ตำแหน่ง คศ.3

    ผู้เขียน เองก็มีแนวคิดในเรื่องนี้อยู่แล้วว่าควรจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้มีปัญหาดัง กล่าว แต่เอาไว้ครั้งหน้าจะขอนำเสนอแนวทางในการประเมินที่ไม่ทำให้ยุ่งยาก ทั้งผู้ทำหน้าที่ประเมินและครูผู้ขอรับการประเมิน คศ.3 โดยที่ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียนไปทำผลงานทางวิชาการ

    อย่างที่สอง ครูเอาเวลาไปทำงานที่เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา (เรื่องนี้นับว่าเป็นยาขมมากสำหรับครู) ต้องใช้เวลาในการรวบรวม เอกสาร หลักฐานต่างๆ (ทั้งที่เป็นจริงและสร้างขึ้น) เพื่อจัดทำเป็นรูปเล่ม เป็นแฟ้ม ตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ต่างๆ ซึ่งมีมากมาย

    ถ้าเป็นโรงเรียน เล็กๆ ในต่างจังหวัดมีครูไม่กี่คน ครูคนหนึ่งต้องทำเอกสารหลายฉบับตามตัวบ่งชี้ทุกตัว แล้วจะมีเวลาสอนเด็กๆ หรือยิ่งใกล้วันที่กรรมการจะมาประเมินภายในหรือภายนอก บางโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมการต่างๆ มากมายสำหรับต้อนรับกรรมการที่จะมาประเมิน

    ครูบางคนพูดติดตลกว่าในช่วงที่มีการประเมินคุณภาพการศึกษา ผักชีในท้องตลาดหาซื้อไม่ได้ เพราะโรงรียนต่างๆ กว้านซื้อกันไปหมดแล้ว

    นอก จากครูจะต้องใช้เวลาในการจัดทำเอกสาร รายงานต่างๆ สำหรับรอรับการประเมินแล้ว ครูจะต้องเข้าประชุม อบรม สัมมนา ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนเพื่อสร้างหลักฐานตามตัวบ่งชี้ในมาตรฐานของการ ประกันคุณภาพการศึกษา

    เป็นอย่างนี้แล้ว ครูจะเอาเวลาที่ไหนมาอยู่ในห้องเรียนกับเด็กได้นานๆ เพราะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นหมดแล้วจะโทษใคร โทษ กฎ ระเบียบอีกหรือ แล้วใครกันที่ออกกฎ ระเบียบนี้ขึ้นมาเพิ่มภาระงานให้ครูมากมายจนไม่มีเวลาสอนเด็ก

    นอกจาก นี้ ผู้เขียนยังเคยได้ยินมาว่า มีบริษัทที่รับประเมินคุณภาพการศึกษาบางแห่งรับจัดทำเอกสาร หลักฐานต่างๆ ตามตัวบ่งชี้เพื่อรอรับการประเมินภายนอก และผู้ที่มาประเมินก็เป็นคนเดียวกันกับที่มาจัดทำเอกสาร หลักฐาน ถ้าเป็นจริงตามที่ผู้เขียนได้ยินมา แสดงว่าการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศเราล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

    สมัย ก่อน การศึกษาของเราไม่มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเหมือนอย่างสมัยนี้ ก็ไม่เห็นมีเสียงสะท้อนออกมาว่าเด็กคุณภาพแย่ ปัจจุบันเรามีการประกันคุณภาพการศึกษามาประมาณ 7 ปี แล้วมีข้อมูลอะไรบ้างยืนยันว่าคุณภาพเด็กไทยเราดีขึ้นกว่าเดิม

    มีแต่ เสียงสะท้อนออกมาจากผู้ปกครอง นักวิชาการ และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายครั้งว่า คุณภาพเด็กไทยสมัยนี้สู้สมัยก่อนไม่ได้ สมัยก่อนเด็กจบแค่ประถมศึกษา (ป.4) อ่านและเขียนหนังสือได้ถูกต้องคล่องแคล่วเก่งกว่าเด็กในสมัยนี้มาก เด็กสมัยนี้จบมัธยมศึกษาแล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย

    เรื่องการ ประกันคุณภาพการศึกษา ผู้เขียนเองก็มีแนวคิดว่าควรจะทำอย่างไร ที่จะไม่ทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียนอีก แต่จะขอเอาไว้เสนอในครั้งต่อไป

    สองอย่าง ที่กล่าวมาข้างต้น ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหมว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียนไม่สอน หนังสือ แล้วอย่างนี้คุณภาพเด็กไทยจะดีได้อย่างไร ใครกันแน่ทำให้คุณภาพเด็กไทยแย่ลง



    ที่มา - มติชนรายวัน หน้า 7 - วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11317

    จำนวนอ่าน : 448