• �กรณี “ปัญหาเด็กติดเกม” ในช่วงที่ผ่านมา และหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ-รัฐบาล ภาคเอกชน-ธุรกิจ ตลอดจนครอบครัว-พ่อแม่ผู้ปกครอง ได้เริ่มตื่นตัวให้ความสำคัญในการแก้ไขและป้องกันเด็กไทยมิให้ตกเป็น “ทาสเกม-เหยื่อเกม” อันเนื่องจากการเล่นเกมมากเกินไป และที่สำคัญคือเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง เพศ มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับวัย ล่าสุดก็เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องใส่ใจให้จริงจัง

    เพราะช่วง “ปิดเทอม” ก็ถือเป็นช่วงที่สุ่มเสี่ยง !!

    แม้ล่าสุดกรณี “ปัญหาเด็กติดเกม” จะได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายมากขึ้น และแม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะมีรายงานข่าวว่าบางหน่วยงานรัฐ จะชงเรื่องต่อรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ประกาศการแก้ปัญหานี้ “เป็นวาระแห่งชาติ” ภายหลังสำรวจพบว่ามีเด็กติดเกมมากถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งต้องรีบเยียวยาก่อนที่จะสายเกินแก้

    อย่างไรก็ตาม เฉพาะหน้าในช่วงที่เด็ก ๆ กำลังปิดเทอม-ปิดภาคเรียนอยู่ในขณะนี้ ก็มีเสียงจากมูลนิธิกระจกเงา เตือนว่า... ภัยสังคมที่ มาจากอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ต่อเด็กในช่วงปิดเทอม ซึ่งนอกจากกรณีเด็กถูกล่อลวงแล้ว ก็รวมถึงกรณี “เด็กติดเกม” ด้วย ซึ่งผลลบที่อาจตามมาเรื่องหนึ่งก็คือ “เด็กหายไปจากบ้าน !!”
    โดยในช่วงเดือน ม.ค..-.มี.ค. 2552 ทางมูลนิธินี้ได้รับแจ้งเด็กหายแล้วกว่า 90 คน เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว !!
    รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า... เมื่อสื่อนำเสนอข่าวมาก ปัญหาก็ซาลงไปพักหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะซาได้นานแค่ไหน เพราะการติดเกมเป็นไวรัสความรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งในช่วงปิดเทอมเด็กส่วนใหญ่จะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมถึง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก และที่สำคัญพ่อแม่อาจไม่รู้เรื่องนี้เลย

    “ปัญหาเด็กติดเกมนี้ เห็นว่ารัฐก็กำลังพยายามแก้ไขอยู่ และเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าจะมีการยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เป็นความร่วมมือ ของสังคม รัฐ ประชาชนพร้อมใจกันเห็นความสำคัญ”

    สำหรับช่วงปิดเทอม รศ.ดร.สมพงษ์มองว่า... ก็น่าเป็นห่วง เพราะ� เด็กจะมีเวลาว่างมาก และตรากตรำจากการเรียนมานานก็ต้องการผ่อนคลาย ดังนั้น รัฐต้องเตรียมรับมือให้ดี ต้องมีโครงการที่จะช่วยเด็กและผู้ปกครองให้มี กิจกรรมทำร่วมกัน โดยเด็กไม่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์ และโครงการก็ต้องตอบโจทย์ได้จริง ๆ มิฉะนั้นหากเด็กจะติดเกมในช่วงปิดเทอมนี้ ก็คงโทษร้านเกมไม่ได้ เพราะเด็กไม่มีทางออก

    “รัฐมัวแต่ไปกังวลในช่วงที่เด็กเรียนหนังสือจนลืมนึกถึงช่วงปิดเทอมที่ก็เป็นเรื่องใหญ่และน่าเป็นห่วง ที่สำคัญ รมว.ศึกษาธิการ ต้องคิด โจทย์ หากิจกรรมในช่วงปิดเทอม เช่น ค่ายคอมพิวเตอร์ ค่ายกีฬา ฯลฯ เพื่อช่วยพ่อแม่เด็ก ซึ่งปัญหาเด็กติดเกมในปีหน้าจะยิ่งหนักขึ้นอีกเท่า หนึ่ง”

    ...รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว พร้อมทั้งบอกด้วยว่า... อย่างไรก็ตาม การจะผลักภาระไปให้ภาครัฐอย่างเดียวก็คงไม่ถูก “ผู้ปกครองก็ต้องดูแลลูก� เช่น จัดตารางการใช้เวลา ให้ความสำคัญลูกด้วยการพูดคุยกันในครอบครัว เพราะเวลาปิดเทอมอาจจะแค่ 3 เดือน แต่ถ้าเล่นเกม 6 ชั่วโมงต่อวัน เด็กก็ติดเกมได้”

    ทางด้าน กีรติกา แผงลาด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ระบุว่า... การแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมของภาครัฐที่ผ่านมาก็ถือว่ามีความพยายามมาก แต่อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วว่ายังเป็นการดำเนินการแบบแยกส่วนอยู่ การแก้ปัญหาจึงไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร ซึ่ง “ช่วงปิดเทอมก็เป็นช่วงที่น่ากังวลใจ เพราะเด็กจะว่างจริง ๆ” ยกเว้นเด็กที่มีกิจกรรมทำ เช่น รวมกลุ่มกับเพื่อนทำกิจกรรมดนตรีหรือกีฬา แต่เด็กที่ไม่มีสังคม ไม่มีฐานะ ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล เป็นกลุ่มที่น่ากังวลมาก

    “เพราะโอกาสจะขลุกอยู่กับร้านเกมมีความเป็นไปได้สูง”

    ผอ.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายครอบครัว บอกอีกว่า... ทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเด็กติดเกมในช่วงปิดเทอม คือภาครัฐน่าจะคุยกับผู้ประกอบการเอกชนให้ช่วยรับเด็กทำงานพิเศษ ซึ่งนอกจากเด็กจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็น ประโยชน์แล้ว เขายังสามารถหารายได้ได้ด้วย จะทำให้เขามีความภาคภูมิใจใน ตนเอง โดยรัฐอาจตอบแทนผู้ประกอบการโดยให้เกียรติบัตรเชิดชู ผู้ประกอบ การก็จะมีกำลังใจในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐต่อไป

    ทั้งนี้ กับ “ปัญหาเด็กติดเกม” นี้ ธิติมา หมีปาน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา บอกว่า... เป็นเรื่องดีถ้าการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมจะ “เป็นวาระแห่งชาติ” ซึ่งสาเหตุที่เด็กหายไปจากบ้านส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เด็กติดเกม ส่วนการตื่นตัวของภาครัฐในการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดกับเด็กนั้น ก็อยากให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเข้าค่าย การสนับสนุนให้เด็กทำงานพิเศษในช่วงปิดเทอม เพื่อเด็กในต่างจังหวัด-เด็กในพื้นที่ห่างไกลด้วย ไม่ใช่มีแต่ในกรุงเทพฯ ในตัวอำเภอ-ในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น

    “ผู้ปกครองเองก็ต้องดูแลเด็กให้มากจริง ๆ ในช่วงปิดเทอม เช่น สังเกตพฤติกรรมลูก หาข้อมูลลูก มีส่วนร่วมในกิจกรรมกับลูก ซึ่งจะ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางที่ดีที่สุด” ...ผู้สันทัดกรณีกล่าว

    “แก้ปัญหาเด็กติดเกมเป็นวาระแห่งชาติ” เป็นจริงก็เป็นเรื่องดี

    แต่เฉพาะหน้าที่ต้องเน้นตอนนี้ก็คือ “เด็กติดเกมช่วงปิดเทอม”

    ธุรกิจอย่าเอาแต่ได้-รัฐอย่าปล่อยปละ-ผู้ปกครองอย่าละเลย !!!.

    ที่มา : อักษรเจริญทัศน์

    จำนวนอ่าน : 580